สวัสดีค่ะ เจ ค่ะ |
วิดีโอนี้ต่อเนื่องมาจากครั้งที่แล้ว เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับวันสิ้นสุดของช่วงเวลาการเข้าพรรษา นั่นก็คือ วันออกพรรษา นั่นเอง ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี เป็นการสิ้นสุดจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่เดียวตลอด 3 เดือน จึงมีกิจกรรมมากมายที่ทั้งพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนควรกระทำ |
เริ่มสนใจกันแล้วใช่ไหมคะ ถ้าพร้อมแล้ว ไปฟังกันเลยค่ะ |
อานิสงส์ของพระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือนคืออะไร |
เราจะเฉลยคำตอบในช่วงท้ายของวิดีโอนี้ค่ะ |
ใน วันออกพรรษา พระสงฆ์จะประกอบพิธีเป็นธรรมเนียมที่เรียกว่า มหาปวารณา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากในระหว่างที่เข้าพรรษาอยู่ด้วยกัน พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข และการให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนก็จะทำให้รู้ข้อบกพร่องของตน พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้ และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แม้พระผู้ใหญ่จะมีอาวุโสมากกว่า แต่ท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง เพราะไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรือออกพรรษา พระสงฆ์ที่ดีควรจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ตามระบอบของพระธรรมคำสอนอยู่ตลอดเวลา |
เนื่องในวันออกพรรษาจะมีประเพณีอย่างหนึ่งเรียกว่า “ประเพณีตักบาตรเทโว” ประเพณีนี้จะแตกต่างจากการตักบาตรปกติเล็กน้อยคือ พิธีที่ทำนั้นทางวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในโบสถ์มารับอาหารจากประชาชน นำบาตรขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป มีคนลากล้อเลื่อนไปช้า ๆ นำหน้าพระสงฆ์และสามเณร ซึ่งถือบาตรเดินเรียงไปตามลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำอาหารคาวหวานมาเรียงตามแนวทางที่พระพุทธรูปจะถูกเคลื่อนผ่าน คอยตักบาตรเมื่อพระพุทธรูปหรือพระสงฆ์มาถึงหน้าตนเอง |
หลังวันออกพรรษาประมาณ 1 เดือน จะมี พิธีเทศน์มหาชาติ ซึ่งอยู่ในช่วงที่ข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ โดยการเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตในชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า โดยในตอนเช้าชาวบ้านจะทำการถวายอาหารพระทั้งวัด จากนั้นพระก็จะเริ่มเทศน์ตั้งแต่เช้า จากกัณฑ์ที่ 1 ไปเรื่อยๆ มักจะใช้เวลานานถึงกลางคืนจนจบกัณฑ์ที่ 13 การเทศน์มหาชาตินั้น เป็นการสั่งสอนคนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จักการให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา |
เนื่องจากวันเข้าพรรษามีพระใหม่ทำพิธีอุปสมบทพร้อมกันเป็นจำนวนมาก หลายคนอาจคิดว่า วันออกพรรษาจะเป็นวันที่พระบวชใหม่ทั้งหมดลาสิกขาพร้อมๆกัน แต่จริงๆแล้วไม่ใช่แบบนั้น แต่ละองค์จะค่อยๆทยอยลาสิกขา เนื่องจากการลาสิกขานั้น คนไทยมีความเชื่อเรื่องโชคลาง ถ้าเป็นวันที่เหมาะสมก็จะทำให้ชีวิตหลังลาสิกขาเจริญรุ่งเรือง ทำให้ต้องไหว้วานให้พระอาจารย์หรือผู้มีความรู้หาฤกษ์งามยามดีที่เหมาะสมในการลาสิกขาให้ โดยแต่ละคนจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวันเดือนปีเกิด |
และตอนนี้ เราจะเฉลยคำตอบของคำถามในช่วงต้นของวิดีโอกันค่ะ |
อานิสงส์ของพระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือนมีอะไรบ้าง |
พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน จะได้รับการยกเว้นพระวินัยบางข้อ เช่น สามารถออกจากวัดได้ โดยไม่ต้องแจ้งเจ้าอาวาสก่อน หรือสามารถออกจากวัดโดยไม่ต้องนำจีวรครบสำรับไปด้วยได้ เป็นต้น ถือเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับพระสงฆ์ในการออกจากวัดไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา |
บทเรียนนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ |
ในวันสำคัญทางศาสนาของเพื่อนๆ มีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างไรบ้าง |
สุดท้ายนี้ ถ้ามีความคิดเห็นอย่างไรก็ส่งมาให้พวกเราได้ที่ ThaiPod101.com แล้วพบกันได้ใหม่ในบทเรียนครั้งต่อไปค่ะ |
Comments
Hide